วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วังเพชรบูรณ์




ประวัติของตำหนักประถม
          ตำหนักประถมเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2462 เป็นตำหนักแรกภายในวังเพชรบูรณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ.2435-2466) พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่แปดของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง

          เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษใหม่ๆ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชยังไม่มีที่ประทับเป็นส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาองค์โตร่วมพระราชชนนีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังปทุมวัน และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวังนี้ว่า วังเพชรบูรณ์

          แต่เดิมวังเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ หรือศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน เป็นวังที่ร่มรื่นมาก ด้านหน้าวังมีพื้นที่ติดถนนพระรามที่ 1 ด้านขวาติดวังสระปทุม ด้านซ้ายติดถนนราชดำริและด้านหลังติดคลองแสนแสบ ภายในวังโปรดให้ขุดสระใหญ่ๆ สองสระ มีเกาะน้อย เกาะใหญ่ รายล้อมไปด้วยน้ำและต้นไม้ และมีบรรยากาศที่ก่อให้เกิดตำนานเล่าขานต่างๆ เช่นว่า มีนางเงือกสิงสถิตย์อยู่ในบริเวณนี้ และในคืนวันเพ็ญเดือนหงายจะโผล่ขึ้นมานั่งสางผมบนเกาะ

          เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชสิ้นพระชนม์ลงในพ.ศ.2466 ด้วยพระชนมายุเพียง 31 ชันษา วังเพชรบูรณ์เป็นที่ประทับต่อของพระชายา ม.จ.บุญจิราธร จุฑาธุช และยังคงความร่มรื่นต่อไป จนกระทั่ง ม.จ.บุญจิราธร สิ้นพระชนม์ลงเมื่อปี 2523 และวังเพชรบูรณ์ กลับคืนไปอยู่ในครอบครองของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก่อนจะกลายสภาพเป็นศูนย์การค้า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช ได้ขอพระราชทานรื้อถอนบางส่วน เพื่อชะลอมาไว้ที่ซอยอัคนี ถนนงามวงศ์วาน ซอย 2 เมื่อปี 2527

          ตำหนักประถมได้รับการรื้อถอนแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิม ตามหลักสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องโดยอาจารย์สุนนท์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สถาปนิกอนุรักษ์แห่งมหาวิทยลัยศิลปากร เมื่อสถาปนิกเข้าไปสำรวจครั้งแรกได้พบว่าตัวอาคารซึ่งเป็นไม้สักทองนั้น ถึงแม้ภายนอกจะมีลักษณะเก่าคร่ำคร่าเนื่องจากยืนตากแดดตากฝนมากว่า 60 ปี แต่โครงสร้างภายในตลอดจนส่วนประกอบของตัวบ้านยังมีความสมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โครงสร้างที่ต้องซ่อมแซมได้แก่รอยต่อของเสาบางต้นซึ่งชำรุดเพราะความชื้นเท่านั้นเอง

          ตัวอาคารซึ่งเรียกว่า "ตำหนักประถม" นั้น เป็นอาคารไม้สักใต้ถุนสูง ลักษณะอาคารเป็นแบบพักอาศัยในยุคที่กำลังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคแรกๆ คือมีการวางห้องต่างๆ ให้ติดต่อกันภายใต้หลังคาชัน เพดานสูง มีบานเกล็ดหรือบานกระทุ้งตามหน้าต่างเพื่อระบายความร้อน เรียกได้ว่าถึงจะเป็นอาคารฝรั่ง แต่ก็เป็นฝรั่งหน้าตาไทยๆ มีเนื้อที่ใช้สอยอยู่ชั้นสองซึ่งประกอบด้วยห้องนอน ห้องรับแขก และห้องน้ำ ซึ่งคงจะเป็นการต่อเติมภายหลัง นอกจากนี้ยังมีห้องใต้หลังคาชั้นสาม เดิมใช้เป็นที่เก็บของ ซึ่งก็เป็นความคิดแบบฝรั่งๆ เช่นกัน

          การจัดบ้านภายในตำหนักประถมดังเช่นที่เห็นในปัจจุบันเรียกว่า เป็นไปตามจินตนาการของผู้จัด ว่าบ้านของศิลปินหนุ่มนั้นน่าจะมีลักษณะเช่นใด อย่างไรก็ตามเครื่องเรือนบางชิ้น เช่นเตียง และโคมไฟบางดวง ตลอดจนเครื่องฮาร์พซึ่งมีอายุเกือบ 100 ปีนั้น เป็นของเก่าดั้งเดิมที่อยู่ภายในบ้าน เครื่องประดับประดา สิ่งละอันพันละน้อย ก็เป็นของเก่าแก่ที่ตกทอดมาภายในครอบครัวนานประมาณสี่ชั่วอายุคน

          ส่วนเรือนริมน้ำเป็นอาคารเล็กๆ น่ารักที่ก่อสร้างด้วยความประณีตยิ่ง คิ้ว บัว ผนัง และเพดานมีรายละเอียดสวยงาม เรือนน้ำและเรือนต้นไม้แปดเหลี่ยมซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งตู้ปลา ได้โยกย้ายมาจากวังเพชรบูรณ์เดิมพร้อมกับตำหนักประถมและประกอบขึ้นใหม่เสร็จสิ้นเมื่อปีพ.ศ.2528

          ส่วนอาคารไม้หลังใหญ่อีกหลังหนึ่งซึ่งต่อเติมออกมาจากตำหนักประถมนั้น ประกอบขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2534 โดยนายญานี ตราโมท จุดเด่นของบ้านหลังใหญ่ หรือเรียกกันว่าตำหนักใหม่นั้นคือ ห้องโถงปิดลายทองที่ได้รับการบูรณะใหม่โดยช่างกรมศิลปากร


เจ้าฟ้านักฮาร์พ
          สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ เป็นศิลปินไทยพระองค์แรกที่ทรงเรียนเล่นพิณฝรั่งหรือฮาร์พ และได้นำฮาร์พเครื่องหนึ่งกลับมาทรงที่เมืองไทยในฐานะเป็นเครื่องดนตรีชิ้นโปรดด้วย

          ฮาร์พตัวนี้ ทำโดยตระกูลมอร์ลี ช่างฮาร์พหลวง (ในอดีต) ของอังกฤษ ท่านทรงซื้อเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2459 และหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ฮาร์พตัวนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในวังเพชรบูรณ์โดยไม่มีคนเล่น ครั้นมีการชะลอตำหนักประถมมาอยู่ที่นนทบุรี ฮาร์พตัวนี้ได้ตามมาด้วย

          เมื่อปี พ.ศ.2543 ทายาทส่งฮาร์พนี้ไปบูรณะที่โรงงานดั้งเดิมที่อังกฤษ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นฮาร์พประวัติศาสตร์ เป็นฮาร์พตัวแรกของประเทศไทย
พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
          สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม ปีมะโรง พ.ศ.2435 ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 6

          ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง แล้วเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมจน พ.ศ.2448 จึงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เข้าศึกษาในวิทยาลัยแมคเดอเลน ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาตรี ด้านวรรณคดี ในปี พ.ศ.2459 พระองค์ทรงโปรดวิชาการดนตรีและการละคร ทรงดีดพิณที่เรียกว่า ฮาร์พ ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งทรงโปรดเปียโนและไวโอลิน เสด็จกลับมาประทับที่วังพญาไท เมื่อปี พ.ศ.2461

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ทรงบรรจุเป็นข้าราชการในกระทรวงธรรมการ และเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษของคณะรัฎฐประศาสนศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2461 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ พ.ศ.2462 พร้อมทั้งพระราชทานที่ดินบริเวณวังปทุมวัน สร้างตำหนักประถม ให้เป็นที่ประทับ ขึ้นเป็นหลังแรก พระราชทานนามวังใหม่ว่า "วังเพชรบูรณ์" พระองค์เสด็จมาประทับราวกลาง พ.ศ.2462 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2465 ก็ทรงได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง และทรงอภิเษกกับ หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรชุมพล ในปีเดียวกัน

          สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2466 ด้วยพระโรคบิด และพระวักกะ(ไต)พิการ ณ วังเพชรบูรณ์ พระชนมายุได้ 31 พรรษา มีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า สุทธสิริโสภา และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช


เจ้าฟ้านักฮาร์พ
          สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ เป็นศิลปินไทยพระองค์แรกที่ทรงเรียนเล่นพิณฝรั่งหรือฮาร์พ และได้นำฮาร์พเครื่องหนึ่งกลับมาทรงที่เมืองไทยในฐานะเป็นเครื่องดนตรีชิ้นโปรดด้วย

          ฮาร์พตัวนี้ ทำโดยตระกูลมอร์ลี ช่างฮาร์พหลวง (ในอดีต) ของอังกฤษ ท่านทรงซื้อเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2459 และหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ฮาร์พตัวนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในวังเพชรบูรณ์โดยไม่มีคนเล่น ครั้นมีการชะลอตำหนักประถมมาอยู่ที่นนทบุรี ฮาร์พตัวนี้ได้ตามมาด้วย

          เมื่อปี พ.ศ.2543 ทายาทส่งฮาร์พนี้ไปบูรณะที่โรงงานดั้งเดิมที่อังกฤษ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นฮาร์พประวัติศาสตร์ เป็นฮาร์พตัวแรกของประเทศไทย




http://khunmaebook.tarad.com/product.detail_646347_th_4614561#
http://www.bangkokgoguide.com/ev-tprathom-hist.php